หลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนโทเคนดิจิทัล

1. บทนำ

บริษัท ที-บ็อกซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (“บริษัท”) กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (“คณะกรรมการคัดเลือกฯ”) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้จัดทำนโยบายและหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้มีมาตรฐานในการคัดเลือกและเพิกถอนโทเคนดิจิทัลที่นำมาให้บริการในศูนย์ซื้อขายของบริษัท โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลักตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

2. วัตถุประสงค์

เพื่อให้พนักงานและ/หรือผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดของบริษัท ได้มีนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้ถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายและ/หรือกฏเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนด

3. หลักการรวมในการพิจารณาคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

3.1 กลุ่มเป้าหมายของบริษัท

บริษัทมีกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจเป็นผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Issuer) ที่ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลซึ่งมีกระแสรายรับหรือมีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Backed Token) (“ผู้ออกและเสนอขาย”) บริษัทจึงกำหนดให้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลซึ่งมีกระแสรายรับหรือมีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด

3.2 คณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

บริษัทกำหนดให้มีนโยบายและกระบวนการในการพิจารณาคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อคัดกรองสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความปลอดภัยและมีคุณสมบัติตามที่บริษัทกำหนด โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อขึ้นทะเบียนในระบบศูนย์ซื้อขายของบริษัท โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะได้รับการแต่งตั้งโดยตำแหน่งจากคณะกรรมการบริษัท อันประกอบไปด้วย

โดยกำหนดให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล และมีหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นเลขานุการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ

3.3 การขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัล

3.3.1 ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและโทเคนดิจิทัลที่บริษัทจะดำเนินการพิจารณาคัดเลือกมาให้บริการในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องได้รับการออกและเสนอขายกับผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล และหลักเกณฑ์เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลซึ่งมีกระแสรายรับหรือมีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นอสังหาริมทรัพย์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ตลอดจนมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และผ่านการพิจารณาตามกระบวนการที่บริษัทกำหนด

3.3.2 กำหนดให้มีการพิจารณาแบบแสดงรายการข้อมูลการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Offering Memorandum) (“แบบแสดงข้อมูล”) โดยแบบแสดงข้อมูลดังกล่าวเป็นเอกสารที่ระบุถึงวัตถุประสงค์ ความเสี่ยง และเงื่อนไขในการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล ตลอดจนเอกสารทางการเงิน ประวัติผู้บริหารและการดำเนินงาน รายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ออกและเสนอขาย ทรัสตี (ถ้ามี) และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ เป็นต้น โดยแบบแสดงข้อมูลต้องได้รับการพิจารณาและเห็นชอบจากผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล และมีผลบังคับใช้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กจ. 15/2561 เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) เพื่อปกป้องและคุ้มครองผู้ลงทุน ทั้งนี้ บริษัทจะพิจารณาถึงความชอบด้วยกฎหมายของแบบแสดงข้อมูลดังกล่าวก่อนการขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัลทุกครั้งโดยให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจตรวจสอบผ่านฐานข้อมูลหนังสือที่ชี้ชวนและแบบแสดงรายการข้อมูลของสำนักงาน ก.ล.ต. (https://market.sec.or.th/public/idisc/en/Product/Filing) รวมถึงกระบวนการดำเนินการ การพัฒนา และการสร้างโทเคนดิจิทัลดังกล่าวต้องสอดคล้องตามแบบแสดงข้อมูลของโทเคนดิจิทัลดังกล่าว

3.4 การติดตามตรวจสอบและทบทวนคุณสมบัติ

บริษัทกำหนดให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจติดตามตรวจสอบและทบทวนคุณสมบัติของผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและโทเคนดิจิทัลดังกล่าวที่ขึ้นทะเบียนในระบบของบริษัทอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง หรือกรณีมีเหตุการณ์สำคัญของผู้ออกและเสนอขาย ทั้งนี้ รายละเอียดการทบทวนข้อมูลและคุณสมบัติของผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลปรากฎในข้อ 3

3.5 การทบทวนนโยบายและหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

บริษัทสงวนสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการพิจารณาคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาให้บริการในศูนย์ซื้อขาย ตลอดจนการแก้ไขและปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย ความปลอดภัย และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น โดยมอบหมายให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและนำเสนอแก่คณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพิจารณาทบทวนนโยบาย มาตรการ กระบวนการ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยหากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ก่อนนำมาประกาศบังคับใช้ในบริษัทตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่หลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือประโยชน์ได้เสียของผู้ใช้บริการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง บริษัทจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลดังกล่าวและเสนอรายงานการรับฟังความคิดเห็นนั้นต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย

4. กระบวนการในการพิจารณาคัดเลือกโทเคนดิจิทัล

บริษัทกำหนดกระบวนการพิจารณาคัดเลือกโทเคนดิจิทัลที่จะขึ้นทะเบียนในศูนย์ซื้อขายของบริษัทตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

4.1 กระบวนการพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ออกและเสนอขาย

กำหนดให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (Business Development Department) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพิจารณาความถูกต้องครบถ้วนของเอกสาร รวมถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามรายละเอียดดังต่อไปนี้ List

4.1.1 ตรวจสอบเบื้องต้นว่าข้อมูลและเอกสารที่ได้รับจากผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามเอกสารแนบท้ายหัวข้อ4.1.2 (ข) มีความถูกต้อง สมบูรณ์ และครบถ้วนตามที่บริษัทกำหนดหรือไม่ ซึ่งรวมถึงข้อมูลและเอกสารเกี่ยวกับการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามแนวทางการรับลูกค้าที่นำมาบังคับใช้กับผู้ออกและเสนอขายโดยอนุโลม (KYC/CDD)

4.1.2 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามแนวทางการรับลูกค้าของบริษัท (CDD) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและกรรมการมิได้มีลักษณะต้องห้ามในการทำธุรกรรมกับบริษัทตามที่กำหนดในตารางด้านล่างนี้ และเป็นบุคคลดังกล่าวจริงตามที่ได้ระบุไว้ในเอกสารที่แจ้งแก่บริษัท

4.1.3 ตรวจสอบว่าการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลว่ามีการออกและเสนอขายอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดหรือไม่ โดยสอบทานกับฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“ก.ล.ต.”) ทั้งนี้ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจอาจประสานงานกับผู้ออกและเสนอขายเพื่อสอบถามหรือข้อเอกสารเพิ่มเติมสำหรับการพิจารณา เช่น เอกสารที่ออกโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งระบุว่าได้มีการอนุญาตให้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล เป็นต้น

4.1.4 หากผู้ออกและเสนอขายไม่มีลักษณะต้องห้ามในการทำธุรกรรมตามนโยบายรับลูกค้าที่บริษัทนำมาบังคับใช้โดยอนุโลมตามข้อ 4.1.2 และการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายอย่างถูกต้องตามข้อ 4.1.3 แล้ว ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจสรุปผลการพิจารณาเพื่อส่งต่อให้ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและฝ่ายปฏิบัติการสำหรับการพิจารณาในลำดับต่อไป ทั้งนี้ ต้องจัดทำรายงานผลการพิจารณาพร้อมเหตุผลอย่างละเอียดและลงนามโดยหัวหน้าฝ่ายงานเพื่อนำส่งคณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

4.1.5 กรณีผู้ออกและเสนอขายมีลักษณะต้องห้ามในการทำธุรกรรมตามที่กำหนดในนโยบายการรับลูกค้าของบริษัท หรือโทเคนดิจิทัลดังกล่าวมีข้อสงสัยว่าอาจไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดเกี่ยวกับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจปฏิเสธการขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัลและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งให้ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานดำเนินการรายงานไปยังหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น หากพบว่าผู้ออกและเสนอขายหรือกรรมการของผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีรายชื่อใน Sanction List หรือหากพบว่าผู้ออกและเสนอขายมิได้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด ให้ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานรายงานแก่สำนักงาน ปปง. เป็นต้น

4.2 กระบวนการประเมินความเป็นไปได้ทางเทคนิคและการปฏิบัติงาน (Technical and Operational Feasibility)

        ภายหลังการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล บริษัทกำหนดให้ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและฝ่ายปฏิบัติการเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาและประเมินความเป็นไปได้ทางเทคนิคและการปฏิบัติงาน โดยใช้ดุลยพินิจและความเชี่ยวชาญอย่างผู้ประกอบวิชาชีพตามรายละเอียดการประเมินดังต่อไปนี้

4.2.1 การประเมินโดยฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ

(1) กำหนดให้ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศพิจารณาและประเมินความเป็นไปได้ทางเทคนิค โดยคำนึงถึงความซับซ้อนในการจัดทำระบบเพื่อรองรับการซื้อขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวในศูนย์ซื้อขายของบริษัท เช่น การพิจารณาลักษณะเฉพาะทางเทคนิคของโทเคนดิจิทัล ระบบเทคโนโลยีเบื้องต้นที่ทางบริษัทต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนหรือสร้างเพื่อให้สามารถซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ระบบรองรับสำหรับการจ่ายผลตอบแทน (ถ้ามี) เป็นต้น พร้อมทั้งประเมินต้นทุนและระยะเวลาในการดำเนินงานดังกล่าว

(2) ให้ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศจัดทำรายงานผลการประเมินตาม (1) โดยระบุความซับซ้อนและความเป็นไปได้ในการให้บริการซื้อขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว พร้อมระบุเงื่อนไข ระยะเวลา และข้อจำกัดให้แก่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

4.2.2 การประเมินโดยฝ่ายปฏิบัติการ

(1) กำหนดให้ฝ่ายปฏิบัติการพิจารณาเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในเชิงการปฏิบัติการเกี่ยวกับการซื้อขายโทเคนดิจิทัลภายหลังจากการประกาศขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัลดังกล่าว โดยให้คะแนนจากความซับซ้อนในการบริหารจัดการระบบของบริษัท โดยให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานปฏิบัติการทั่วไปจะตรวจสอบเอกสาร White Paper หนังสือชี้ชวน และแบบแสดงรายการข้อมูลการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยจะพิจารณาถึงประเด็นและข้อกำหนดดังต่อไปนี้

– เงื่อนไขการลงทะเบียน การรู้จักตัวตน และการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า

– เงื่อนไขการฝากและถอนเงินบาทในระบบศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล

– เงื่อนไขเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การซื้อขาย

– เงื่อนไขเกี่ยวกับหน้าที่ในการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล

– เงื่อนไขเกี่ยวกับหน้าที่ในการเป็นนายทะเบียนสินทรัพย์ดิจิทัล

– เงื่อนไขเกี่ยวกับหน้าที่ในการจ่ายผลตอบแทนแก่นักลงทุน

– เงื่อนไขด้านกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (Wallet Requirement)

– เงื่อนไขเกี่ยวกับการฝากหรือโอนสินทรัพย์ดิจิทัล

(2) ให้ฝ่ายปฏิบัติการจัดทำรายงานผลการประเมินตาม (1) โดยระบุรายละเอียดและความเป็นไปได้ในการให้บริการซื้อขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว พร้อมระบุเงื่อนไข ระยะเวลา และข้อจำกัดให้แก่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อพิจารณาต่อไปตามข้อ 2.3 ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่หน่วยงานปฏิบัติการพบว่ามีข้อกำหนดใดข้อกำหนดหนึ่งซึ่งบริษัทไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขได้เนื่องจากนโยบายของบริษัทในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการจะจัดทำรายงานที่ระบุรายละเอียดข้อกำหนดที่บริษัทไม่สามารถดำเนินการได้และความเห็นว่าควรปฏิเสธการขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัลดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาตามข้อ 2.3 ต่อไป

4.3 กระบวนการประเมินความเหมาะสมในการให้บริการโดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ

4.3.1 บริษัทกำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกโทเคนดิจิทัลในขั้นสุดท้าย โดยคณะกรรมการดังกล่าวต้องพิจารณารายงานผลการประเมินและข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลตั้งแต่กระบวนการพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ออกและเสนอขาย การประเมินความเป็นไปได้ทางเทคนิคและการปฏิบัติการ และอาจขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ออกและเสนอขายตามความเหมาะสมเพื่อประกอบการพิจารณา

4.3.2 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกโทเคนดิจิทัลของบริษัท (Listing Rules) ดังต่อไปนี้หรือไม่อย่างไร

หลักเกณฑ์

คุณสมบัติ

ผู้ออกและเสนอขาย

1.        เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่หลักเกณฑ์ว่าด้วยการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

2.        ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรืออยู่ระหว่างการยื่น หรือไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการหรือการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

3.   ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและกรรมการของผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามแนวทางการรับลูกค้าที่บริษัทกำหนด

โทเคนดิจิทัลที่นำมาขึ้นทะเบียน

การออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องกระทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยมีกระบวนการออกและเสนอขายที่ถูกต้องตามกฎหมายและได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.

ชนิดของโทเคนดิจิทัล

ในกรณีที่มีการแบ่งโทเคนดิจิทัลออกเป็นหลายชนิด สิทธิและผลประโยชน์ของแต่ละชนิดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกระแสรายรับหรือสินทรัพย์อ้างอิง

1.  การลงทุนต้องเป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ตามกรอบหนังสือชี้ชวนและแบบแสดงรายการข้อมูล โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลที่มีกระแสรายรับหรือมีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นอสังหาริมทรัพย์และการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่กฎหมายกำหนด

2.  ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมจะนำไปจัดหาประโยชน์ และไม่อยู่ในบังคับแห่งทรัพยสิทธิหรือมีข้อพิพาทใด ๆ เว้นแต่ผู้ออกและเสนอขายได้รับยกเว้นตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

3.  มีจำนวนหรือมูลค่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนหรือมูลค่าโครงการนั้น หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนต้องมีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท เว้นแต่ผู้ออกและเสนอขายได้รับยกเว้นตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดว่าด้วยการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นและอนุญาตให้ทำได้

4.  อสังหาริมทรัพย์ต้องผ่านการประเมินมูลค่าอย่างเต็มรูปแบบโดยผู้ประเมินตามที่กฎหมายว่าด้วยการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลกำหนด

5.  กรณีที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เฉพาะที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดว่าด้วยการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล

การจัดหาผลประโยชน์

ผู้เช่าต้องไม่นำอสังหาริมทรัพย์ไปใช้ประกอบธุรกิจที่ขัดต่อศีลธรรมหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้ถือโทเคนดิจิทัล

มีกระบวนการจัดสรรผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

สัดส่วนการถือครองโทเคนดิจิทัล

จำนวนผู้ถือโทเคนดิจิทัล

การจัดสรรโทเคนดิจิทัลให้แก่ผู้เกี่ยวข้องและนักลงทุนต้องเป็นไปตามอัตราการถือครองตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

การบริหารจัดการ

ธรรมาภิบาลและการควบคุมภายใน

ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องแสดงให้เห็นถึงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและผู้ตรวจสอบ รวมถึงระบบการตรวจสอบภายในและการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ

 

4.3.3 หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาและพบว่าโทเคนดิจิทัลที่พิจารณาขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกในข้อ 4.3.2 ข้างต้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนดังกล่าวในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท กล่าวคือ โทเคนดิจิทัลที่นำมาขึ้นทะเบียนจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่บริษัทกำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ ในการลงคะแนนเสียงของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องมีมติอย่างน้อยร้อยละ 75 ของคะแนนเสียงทั้งหมดของกรรมการที่กำหนดให้ต้องเข้าร่วมประชุม และในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานคณะกรรมการเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด

4.4 ภายหลังการพิจารณาโดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ

     บริษัทมีกระบวนการภายหลังการพิจารณาโดยคณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลตามแนวทางดังต่อไปนี้                       

4.4.1 กรณีคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่อนุมัติการขึ้นทะเบียน

      ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ออกและเสนอขาย พร้อมจัดทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาคัดเลือกสินทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลของบริษัทต่อไป

4.4.2 กรณีคณะกรรมการคัดเลือกฯ อนุมัติการขึ้นทะเบียน

ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีคำสั่งไปยังฝ่ายพัฒนาธุรกิจดำเนินการเตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัลดังกล่าวในศูนย์ซื้อขายของบริษัทตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

(1) ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจแจ้งผลการพิจารณาแก่ผู้ออกและเสนอขาย พร้อมจัดให้มีการลงนามในสัญญาระหว่างบริษัทกับผู้ออกและเสนอขายโดยมีรายละเอียดและสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

  • ผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องรับประกันและรับรอง (Representations and Warranties) เกี่ยวกับเอกสารและข้อมูลทั้งหมดที่ได้นำส่งแก่บริษัท สถานะการมีตัวตน ความถูกต้องตามกฎหมายในการดำเนินธุรกิจและการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว
  • ผู้ออกและเสนอขายมีหน้าที่จัดส่งเอกสาร คำชี้แจง รายงาน และข้อมูลให้แก่บริษัทเป็นรายปี หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญของผู้ออกและเสนอขายที่กำหนดในข้อ 5
  • ผู้ออกและเสนอขายต้องยินยอมและยอมรับว่าบริษัทมีสิทธิพิจารณาเพิกถอนโทเคนดิจิทัล โดยเป็นดุลพินิจของบริษัทเพียงฝ่ายเดียวและการตัดสินใจของบริษัทถือเป็นที่สุด
  • ผู้ออกและเสนอขายมีหน้าที่ดำเนินการและให้ความร่วมมือกับบริษัท เช่น การจัดหาข้อมูลที่จำเป็นในการให้บริการในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล การให้ความร่วมมือและสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะกรณีเกิดความผิดปกติหรือข้อบกพร่องเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลดังกล่าว เพื่อเป็นการคุ้มครองและลดความเสี่ยงสำหรับผู้ถือโทเคนดิจิทัลและลูกค้าในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท
  • กำหนดมาตรการลงโทษ ค่าเสียหาย และค่าชดเชยกรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญา รวมถึงกรณีกระทำการที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหรือลูกค้าของบริษัท
  • กำหนดให้มีคำรับรองว่าไม่พบความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างบริษัทกับผู้ออกและเสนอขายหรือโครงการที่เสนอขายในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Due Diligence Process) โดยหากผู้ออกและเสนอขายพบว่ามีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ดังกล่าวกับบริษัทให้ผู้ออกและเสนอขายแจ้งแก่บริษัทโดยเร็ว

(2) ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจจัดทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาคัดเลือกสินทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลของบริษัทต่อไป

4.5 การพัฒนาระบบเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัล

        ภายหลังคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาอนุมัติขึ้นโทเคนดิจิทัล บริษัทกำหนดให้มีการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัล โดยมีการทดสอบบนระบบเสมือนจริง (Sandbox Server) เพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานของระบบและการทำธุรกรรมเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลดังกล่าวเป็นไปอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้มีการทดสอบ 2 อย่างด้วยกัน ได้แก่ การทดสอบการทำธุรกรรม และการทดสอบการทำงานร่วมกันกับสัญญาอัจฉริยะหรือแอพพลิเคชั่นของบุคคลภายนอก (Smart contract/third party application)

4.5.1 การทดสอบการทำธุรกรรม (Transaction)

กำหนดให้ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศทดสอบด้วยการส่งคำสั่งทำธุรกรรมหลากหลายรูปแบบโดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการส่งคำสั่งที่อาจเกิดขึ้นในระบบจริง เช่น คำสั่งซื้อขายที่มีจำนวนและมูลค่าสูงต่ำสลับกัน ความถี่ในการส่งคำสั่งโดยอาจใช้ระบบส่งคำสั่งซื้อขายอัตโนมัติ

4.5.2 การทดสอบการทำงานร่วมกันกับสัญญาอัจฉริยะหรือโปรแกรมประยุกต์ของบุคคลภายนอก (Smart contract/third party application)

ในกรณีที่โทเคนดิจิทัลต้องมีการเชื่อมต่อทางเทคนิคกับสัญญาอัจฉริยะหรือโปรแกรมประยุกต์ของบุคคลภายนอกเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินการตามหน้าที่และความรับผิดที่มีต่อลูกค้าหรือผู้ถือโทเคนดิจิทัลได้ บริษัทจึงจัดให้มีการทดสอบการทำงานร่วมกันบนระบบเสมือนจริง เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีข้อบกพร่องในการทำงานอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหรือลูกค้าของบริษัท

ภายหลังบริษัทจัดให้มีการทดสอบตามแนวทางข้างต้นและไม่พบข้อบกพร่องในการทำงานของระบบและโทเคนดิจิทัลดังกล่าว ให้ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศดำเนินการพัฒนาระบบจริงเพื่อรองรับการให้บริการโทเคนดิจิทัลนั้นในศูนย์ซื้อขายของบริษัทโดยปฏิบัติตามแนวทางที่ได้ทดสอบไว้ หากฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศพบข้อบกพร่อง (Defect) ในการทำงานของระบบและโทเคนดิจิทัลดังกล่าวให้ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศดำเนินการตรวจสอบและระบุสาเหตุแห่งข้อบกพร่องนั้นเพื่อพิจารณาแนวทางปรับปรุงหรือลดความเสี่ยงหรือผลกระทบของข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องที่มีต่อความปลอดภัย ความถูกต้องเชื่อถือได้ และความพร้อมใช้ของระบบสารสนเทศ และดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องตามแนวทางการจัดหา พัฒนา และดูแลรักษาระบบสารสนเทศ (System Acquisition, Development and Maintenance) และการรักษาความปลอดภัยด้านการปฏิบัติงานประจำวันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Operation Security)

4.6 ระยะเวลาการพิจารณาคัดเลือกโทเคนดิจิทัล

        บริษัทประเมินและกำหนดระยะเวลาในการคัดเลือกโทเคนดิจิทัลตามกระบวนการในหมวดนี้ได้ตามรายละเอียดดังนี้

 

5. การติดตามตรวจสอบและทบทวนสินทรัพย์ดิจิทัล

   กำหนดให้มีกระบวนการติดตามตรวจสอบและทบทวนผู้ออกและเสนอขาย รวมถึงโทเคนดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนในศูนย์ซื้อขายของบริษัท โดยจัดให้มีการตรวจสอบทบทวนคุณสมบัติเป็นรายปีและกรณีเกิดเหตุการณ์สำคัญตามแนวทางดังต่อไปนี้

5.1 การตรวจสอบรายไตรมาส

5.1.1 กำหนดให้ผู้ออกและเสนอขายมีหน้าที่นำส่งข้อมูลการดำเนินงานและการเงินที่สำคัญ งบการเงิน และรายงานประจำปี (ถ้ามี) ของรอบปีบัญชีดังกล่าวให้แก่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจตามช่องทางที่บริษัทกำหนดในข้อ 5.3  เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการตรวจสอบทบทวนคุณสมบัติของผู้ออกและเสนอขาย

5.1.2 บริษัทกำหนดให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นดำเนินการทบทวนคุณสมบัติผู้ออกและเสนอขายและโทเคนดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียน โดยการทบทวนต้องครอบคลุมถึงการตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ของบริษัท การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ออกและเสนอขาย ความสอดคล้องระหว่างการดำเนินงานกับแผนงานและหนังสือชี้ชวน รวมถึงเอกสารที่ผู้ออกและเสนอขายได้จัดส่งให้ตามข้อ 3.1.1 และข้อ 3.2 (ถ้ามี)ภายหลังการตรวจสอบทบทวนดังกล่าว ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจรวบรวมข้อมูลและรายงานแก่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อพิจารณาทบทวนต่อไป  ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้มีการทบทวนเป็นประจำอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง  

5.1.3 กรณีที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจทบทวนแล้วพบว่าผู้ออกและเสนอขายหรือโทเคนดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนมีความเสี่ยงหรือมีลักษณะตามหลักเกณฑ์การเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท หรือขัดต่อกฎหมาย หลักเกณฑ์ หรือระเบียบของสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ปปง. หรือหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง หรือหลักเกณฑ์ของบริษัท ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นผู้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวและรายงานแก่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อพิจารณาการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลและดำเนินการต่อไป

5.2 การติดตามตรวจสอบเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญหรือมีเหตุอันควรสงสัย

5.2.1 กรณีเกิดเหตุการณ์สำคัญของผู้ออกและเสนอขายหรือโทเคนดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียน บริษัทกำหนดให้ผู้ออกและเสนอขายมีหน้าที่จัดส่งข้อมูลและเอกสารเพื่อรายงานหรือชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวแก่บริษัทแล้วแต่กรณี พร้อมแจ้งระยะเวลาที่จะดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าวตามรายละเอียดดังต่อไปนี้  

5.2.2 การเปิดเผยข้อมูล รายงาน หรือชี้แจงตามข้อ 5.2.1 ให้ผู้ออกและเสนอขายเปิดเผยหรือจัดส่งตามช่องทางที่บริษัทกำหนดในข้อ 5.3 กรณีมีเหตุสุดวิสัยไม่อาจเปิดเผย รายงาน หรือชี้แจง ตามระยะเวลาในข้อ 5.2.1 ได้ ให้ผู้ออกและเสนอขายเร่งดำเนินการดังกล่าวภายใน 3 วัน นับแต่วันสุดท้ายที่กำหนดให้ผู้ออกและเสนอขายต้องเปิดเผย รายงาน หรือชี้แจงข้อมูลตามที่กำหนดในข้อ 5.2.1

5.2.3 กำหนดให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจมีหน้าที่ติตตามตรวจสอบเหตุการณ์ควบคู่กับเอกสารรายงาน/ชี้แจงที่ได้รับจากผู้ออกและเสนอขายตามข้อ 5.2.1 รวมถึงทบทวนคุณสมบัติผู้ออกและเสนอขายหรือโทเคนดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนทันทีหากพบหรือมีเหตุอันควรสงสัยซึ่งอาจเป็นปัจจัยในการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว เช่น เกิดเหตุการณ์สำคัญซึ่งผู้ออกและเสนอขายไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าวได้ในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ความผิดปกติหรือความบกพร่องในคุณสมบัติของผู้ออกและเสนอขายหรือโทเคนดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียน การร้องเรียนของลูกค้า ความเสี่ยงด้านกฎหมาย การหลอกลวง (Scam) เป็นต้น

5.2.4 กรณีที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจทบทวนแล้วพบว่าผู้ออกและเสนอขายหรือโทเคนดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนมีความเสี่ยงหรือมีลักษณะตามหลักเกณฑ์การเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท หรือขัดต่อกฎหมาย หลักเกณฑ์ หรือระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง หรือหลักเกณฑ์ของบริษัท ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นผู้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวและรายงานแก่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการต่อผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อไป

5.3 ช่องทางการจัดส่งและแจ้งข้อมูลแก่บริษัท

บริษัทกำหนดให้มีช่องทางแก่ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลสำหรับการนำส่งข้อมูล การแจ้งรายละเอียด การรายงาน และการชี้แจงตามข้อ 5.1 และ 5.2 เป็นการเฉพาะ โดยช่องทางเฉพาะในการนำส่ง ได้แก่ ที่อยู่อิเล็กทรอนิกส์ที่บริษัทกำหนดสำหรับการนำส่งในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ([email protected]) และที่อยู่ของบริษัทสำหรับการนำส่งในรูปแบบเอกสาร ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการตรวจสอบและติดตามทบทวนข้อมูลของผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล  

5.4 มาตรการหากผู้ออกและเสนอขายฝ่าฝืน ละเลย หรือไม่ปฏิบัติตามนโยบาย หลักเกณฑ์ หรือข้อกำหนดของบริษัท

5.4.1 กรณีบริษัทพบว่าผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์ หรือข้อกำหนดของบริษัท บริษัทกำหนดให้ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยมีหัวหน้าฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานนำเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มาตรการต่อผู้ออกและเสนอขายเพื่อให้ผู้ออกและเสนอขายที่ได้ขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นบริษัทที่มีคุณภาพ มีระบบการบริหารงานและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนทั่วไป สำหรับมาตรการดังกล่าวของบริษัทเป็นไปตามแนวทางดังต่อไปนี้ โดยมีตัวอย่างตามข้อ 5.4.2

ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นผู้พิจารณาหากมีการฝ่าฝืนดังกล่าว โดยให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นผู้ดำเนินการแจ้งมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ และบทลงโทษแก่ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล

5.4.2 บริษัทกำหนดตัวอย่างการฝ่าฝืน ละเลย หรือไม่ปฏิบัติตามนโยบาย หลักเกณฑ์ หรือข้อกำหนดของบริษัทและระดับความร้ายแรงตามแนวทางในข้อ 5.4.1 ดังต่อไปนี้

5.4.3 คณะกรรมการคัดเลือกฯ อาจพิจารณากำหนดระยะเวลาให้ผู้ออกและเสนอขายดำเนินการแก้ไขเหตุแห่งการฝ่าฝืนนั้นได้เฉพาะกรณีที่ระบุในตารางข้อ 5.3.2 โดยพิจารณากำหนดระยะเวลาได้ตามความเหมาะสมแต่ไม่เกิน 1 ปี และอาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 1  ปี

6. กระบวนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

6.1 การรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณา

6.1.1 กรณีที่พบว่ามีลักษณะตามหลักเกณฑ์การเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

(1) ในกรณีที่บริษัทพบว่าผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลมีลักษณะตามหลักเกณฑ์การเพิกถอนโทเคนดิจิทัลที่บริษัทกำหนดในข้อ 6.3 ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจแจ้งผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้จัดทำคำชี้แจงสาเหตุและข้อเท็จจริงแก่บริษัท

(2) ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจดำเนินการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกและเสนอขายและโทเคนดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลที่ได้รับจากข้อ (1) เพื่อนำเสนอแก่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นผู้พิจารณาการเพิกถอนต่อไป

6.1.2 กรณีที่ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลขอเพิกถอนโทเคนดิจิทัล (Voluntary Delisting)

(1) ในกรณีที่ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลแจ้งความประสงค์ขอเพิกถอนโทเคนดิจิทัลออกจากระบบศูนย์ซื้อขายของบริษัท ให้ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลแจ้งมติการขอเพิกถอนโทเคนดิจิทัลของคณะกรรมการหรือที่ประชุมของผู้ออกและเสนอขายซึ่งมีอำนาจตัดสินใจภายในวันที่มีมติดังกล่าวหรืออย่างช้าภายในเวลา 9.00 น.ของวันทำการถัดไป และนำสั่งข้อมูลที่แก่บริษัทดังต่อไปนี้

  • แบบการขอเพิกถอนโทเคนดิจิทัลจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทตามเอกสารแนบท้ายหัวข้อ 4.1.2 (ก)
  • ชื่อที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ และ/หรือ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและเสนอแนะความเห็นต่อผู้ถือโทเคนดิจิทัล

(2) ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับแจ้งและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อนำเสนอแก่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิกถอนต่อไป

6.2 การพิจารณาเพิกถอนโทเคนดิจิทัล

ในการพิจารณาเพิกถอนโทเคนดิจิทัล ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาคุณสมบัติและลักษณะของผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและโทเคนดิจิทัลว่าเป็นไปตามเงื่อนไขและลักษณะในหลักเกณฑ์การเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ 4.3 หรือไม่ โดยอาจขอข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

6.2.1 กรณีไม่มีลักษณะตรงตามหลักเกณฑ์การเพิกถอน

หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาและพบว่าผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล และโทเคนดิจิทัลดังกล่าวไม่มีลักษณะตรงตามหลักเกณฑ์การเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่บริษัทกำหนด ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ปฏิเสธการเพิกถอนโทเคนดิจิทัลและแจ้งฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่อไป

6.2.2 กรณีพบว่ามีลักษณะตรงตามหลักเกณฑ์การเพิกถอน

(1) หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาและพบว่าผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือโทเคนดิจิทัลดังกล่าวมีลักษณะตรงตามข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อของหลักเกณฑ์การเพิกถอนโทเคนดิจิทัลในข้อ 6.3 คณะกรรมการคัดเลือกฯ อาจกำหนดระยะเวลาให้ผู้ออกและเสนอขายชี้แจงสาเหตุภายใน 3 ทำการ และกำหนดระยะเวลาให้แก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนได้ โดยให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นผู้ติดตามการดำเนินการ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ กำหนดระยะเวลาให้ผู้ออกและเสนอขายแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนได้เฉพาะกรณีที่กำหนดในข้อ 4.3.2 เท่านั้น

(2) หากภายหลังระยะเวลาตาม (1) ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าเหตุแห่งการเพิกถอนได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมหรือไม่ หากผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือโทเคนดิจิทัลดังล่าวยังคงมีลักษณะตรงตามหลักเกณฑ์การเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเพิกถอนโทเคนดิจิทัลดังกล่าวจากศูนย์ซื้อขายของบริษัท

6.2.3 การลงคะแนนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ

ในการลงคะแนนเสียงของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องมีมติอย่างน้อยร้อยละ 75  ของคะแนนเสียงทั้งหมดของกรรมการที่กำหนดให้เข้าร่วมประชุม และในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานคณะกรรมการเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด

6.2.4 การบันทึกและจัดเก็บข้อมูล

      กำหนดให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ จัดทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาและมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบในภายหลังต่อไป

6.2.5 การรายงานแก่หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

      กำหนดให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจแจ้งมติการเพิกถอนโทเคนดิจิทัลแก่ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานเพื่อให้จัดทำรายงานแก่หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องต่อไป

6.2.6 การแจ้งเตือนนักลงทุนกรณีโทเคนดิจิทัลอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพิกถอน

      บริษัทกำหนดให้มีการแสดงสัญลักษณ์ที่ระบุว่าโทเคนดิจิทัลดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะเดียวกันกับการแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในเอกสารหัวข้อ หัวข้อ 4.1.5 (2) – ข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets Information Disclosure) นอกจากนี้บริษัทยังจัดให้มีการแจ้งเตือนเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านทางที่อยู่อิเล็กทรอนิกส์และกล่องข้อความในแอปพลิเคชันแก่นักลงทุนด้วย

6.3 เงื่อนไขและหลักเกณฑ์การเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

บริษัทกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

6.3.1 กรณีการเพิกถอนโดยสมัครใจ (Voluntary Delisting)

ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้แจ้งมติการขอเพิกถอนโทเคนดิจิทัลของคณะกรรมการหรือที่ประชุมของผู้ออกและเสนอขายซึ่งมีอำนาจตัดสินใจภายในวันที่มีมติดังกล่าวหรืออย่างช้าภายในเวลา 9.00 น.ของวันทำการถัดไปโดยข้อมูลที่ต้องแจ้งแก่บริษัท ได้แก่

(1)    แบบการขอเพิกถอนโทเคนดิจิทัลจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทตามเอกสารแนบท้ายหัวข้อ 4.1.2 (ก) 

(2) ชื่อที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ และ/หรือ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและเสนอแนะความเห็นต่อผู้ถือโทเคนดิจิทัล

6.3.2 การเพิกถอนกรณีบริษัทพบว่ามีลักษณะตามหลักเกณฑ์เพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

     

ลำดับ

หลักเกณฑ์การเพิกถอนโทเคนดิจิทัล

1.

ผู้ออกและเสนอขายเลิกบริษัท

2.

ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ผู้ออกและเสนอขาย*

3.

ผู้สอบบัญชีรายงานว่าไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินเป็นระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน*

4.

ผู้ออกและเสนอขายดำเนินการอันอาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิประโยชน์หรือการตัดสินใจของผู้ถือโทเคนดิจิทัล หรือต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของโทเคนดิจิทัล* ดังต่อไปนี้

(1) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัลที่มีกระแสรายรับหรือมีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

(2) เปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จต่อบริษัทหรือเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไป หรือไม่เปิดเผย หรือมีข้อผิดพลาดในข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ

(3) ดำเนินการหรือมีเหตุอันควรสงสัยที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิประโยชน์หรือการตัดสินใจของผู้ถือโทเคนดิจิทัลหรือต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของโทเคนดิจิทัล

5.

ผู้ออกและเสนอขายฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามนโยบาย หลักเกณฑ์ ระเบียบข้อกำหนดของบริษัทในฐานะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือไม่สามารถรายงานหรือชี้แจงต่อบริษัทได้ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร*

6.

ผู้ออกและเสนอขายไม่เปิดเผย รายงาน หรือชี้แจงข้อมูลแก่บริษัทตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด

7.

ผู้ออกและเสนอขายไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป หรือไม่สามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขายได้ (Resume Stage)

8.

ผู้ออกและเสนอขายขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท*

* คณะกรรมการคัดเลือกฯ อาจพิจารณากำหนดระยะเวลาให้มีการแก้ไขเหตุดังกล่าวได้ตามความเหมาะสมแต่ไม่เกิน 1 ปี และอาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 1  ปี

6.4 การเตรียมระบบงานในการเพิกถอน

6.4.1 กำหนดให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีหน้าที่แจ้งมติการเพิกถอนให้แก่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล ฝ่ายปฏิบัติการ และฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมระบบงานในการเพิกถอนโทเคนดิจิทัลตามแนวทางที่กำหนดในแบบแสดงรายการข้อมูลการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล

6.4.2 กำหนดให้ฝ่ายงานตามข้อ 6.4.1 ร่วมกันจัดทำแผนงานเพิกถอนโทเคนดิจิทัลที่มีความชัดเจน โดยอย่างน้อยต้องระบุระยะเวลาในการดำเนินการเพิกถอนและวันที่มีการเพิกถอนโทเคนดิจิทัลออกจากระบบศูนย์ซื้อขายของบริษัท ทั้งนี้ การจัดทำแผนงานเพิกถอนโทเคนดิจิทัลดังกล่าวต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักลงทุนและผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเป็นหลัก และเมื่อจัดทำแผนงานเสร็จสิ้นแล้วให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจนำเสนอแก่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนงานดังกล่าวต่อไป 

6.4.3 ภายหลังได้รับข้อมูลและรายละเอียดแผนงานจากฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ให้คณะกรรมการพิจารณฯ พิจารณาแผนงานโดยถึงความเหมาะสมและผลประโยชน์ของนักลงและผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยหาก

(1) คณะกรรมการคัดเลือกฯ อนุมัติแผนงาน – ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจดำเนินการตามข้อ 6.5 ต่อไป

(2) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่อนุมัติแผนงาน – ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจดำเนินการแก้ไขแผนงานและนำเสนอแก่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อไป

6.4.4 กำหนดให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีหน้าที่แจ้งมติการอนุมัติแผนงานเพิกถอนโทเคนดิจิทัลให้แก่ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อเตรียมระบบงานในการเพิกถอนโทเคนดิจิทัลตามแผนงานดังกล่าว

6.5 การเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือโทเคนดิจิทัล

ภายหลังคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเพิกถอนโทเคนดิจิทัล ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบในการแจ้งรายละเอียดการเพิกถอนโทเคนดิจิทัลเป็นการทั่วไปในแอพพลิเคชั่นของบริษัท และแจ้งแก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลผ่านทางที่อยู่อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับบริษัท โดยการแจ้งรายละเอียดดังกล่าวต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันที่บริษัทจะหยุดให้มีการซื้อขายโทเคนดิจิทัลที่จะถูกเพิกถอนออกจากระบบศูนย์ซื้อขายและต้องมีข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้

  • รายละเอียดโทเคนดิจิทัล
  • เหตุผลและข้อเท็จจริงของการเพิกถอนโทเคนดิจิทัล
  • วันที่จะมีการเพิกถอนโทเคนดิจิทัลออกจากระบบศูนย์ซื้อขาย
  • แนวทางการดูแลผู้ถือโทเคนดิจิทัลของบริษัท โดยระบุระยะเวลาที่ให้ผู้ถือโทเคนดิจิทัลสามารถขายโทเคนดิจิทัลหรือดำเนินการตามแนวทางการดูแลผู้ถือโทเคนดิจิทัลดังกล่าวอย่างชัดเจน
  • ช่องทางการติดต่อของบริษัทเพื่อช่วยเหลือผู้ลงทุน

6.6 การดูแลผู้ถือโทเคนดิจิทัล

ภายหลังคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเพิกถอนโทเคนดิจิทัล และมิใช่กรณีที่ผู้ออกและเสนอขายเลิกบริษัท การเพิกถอนโทเคนดิจิทัลออกจากศูนย์ซื้อขายของบริษัท ผู้ออกและเสนอขายต้องจัดให้มีแนวทางดูแลผู้ถือโทเคนดิจิทัลที่เหมาะสม (Reasonable Exit) เช่น จัดให้มีกลไกรองรับการขายโทเคนดิจิทัลของผู้ถือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายของบริษัท เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดแนวทางดูแลดังกล่าวเป็นหน้าที่ของผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลซึ่งบริษัทมีเพียงหน้าในการรวบรวมรายชื่อผู้ถือโทเคนดิจิทัลและแจ้งรายละเอียดแนวทางดูแลดังกล่าวแก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลเท่านั้น อย่างไรก็ตามแนวทางดูแลผู้ถือโทเคนดิจิทัลดังกล่าวต้องมีระยะเวลาให้ลูกค้าดำเนินการตามแนวทางนั้นอย่างน้อย 90 วัน ก่อนวันที่จะนำโทเคนดิจิทัลออกจากระบบ

6.7 ระยะเวลาดำเนินการเพิกถอนโทเคนดิจิทัล

        บริษัทประเมินและกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนโทเคนดิจิทัลตามกระบวนการที่กำหนดในหมวดนี้ได้ดังต่อไปนี้

7. มาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างการให้บริการในฐานะศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัลและผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล

7.1 การแบ่งแยกคณะกรรมการที่รับผิดชอบ

7.1.1 กำหนดแบ่งแยกคณะกรรมการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพิจารณาคัดเลือกโทเคนดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการบนระบบศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัลแยกต่างหากจากคณะกรรมการที่รับผิดชอบการคัดเลือกโทเคนดิจิทัลที่จะนำมาเสนอขายในระบบให้บริการเสนอขายโทเคนดิจิทัลอย่างชัดเจนดังต่อไปนี้

(1)      คณะกรรมการพิจารณาออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Issuer On-Boarding Committee เป็นผู้พิจารณาและมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการให้บริการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal Service) แก่ผู้ออกและเสนอขาย

(2) คณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing and Delisting Committee) เป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัลของบริษัท (Exchange Service)

7.1.2 คณะกรรมการพิจารณาออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและคณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลจะได้รับการแต่งตั้งเป็นคนละชุดเพื่อให้สามารถพิจารณาคัดเลือกโทเคนดิจิทัลและตัดสินใจได้อย่างเป็นอิสระ เพื่อให้มั่นใจว่าโทเคนดิจิทัลที่จะนำมาขึ้นทะเบียนมีความถูกต้อง ปลอดภัย และเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

7.2 การพิจารณาให้บริการแก่ผู้ออกและเสนอขาย

7.2.1 การพิจารณาให้บริการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล

(1) ในการให้บริการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal Service) กำหนดให้มีกระบวนการพิจารณาและตรวจสอบผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลก่อนการให้บริการทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการออกและเสนอขายเป็นไปตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด โดยมีฝ่ายที่ปรึกษาการเงิน (Financial Advisory Department) ดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับโครงการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล และหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการเงินจะนำเสนอผลการตรวจสอบแก่คณะกรรมการพิจารณาออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Issuer On-Boarding Committee )

(2) ในการพิจารณามติการให้บริการแก่ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล คณะกรรมการพิจารณาออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องมีคะแนนเสียงอย่างน้อยร้อยละ 75 ของคะแนนเสียงของคณะกรรมการที่กำหนดให้เข้าร่วมประชุม โดยหากพบว่าโครงการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างผู้ออกและเสนอขายกับบริษัท หรือผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากรของบริษัท ให้คณะกรรมการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลลงคะแนนปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้ออกและเสนอขายนั้น

7.2.2 การพิจารณาขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัล

ในกรณีที่ผู้ออกและเสนอขายประสงค์ขึ้นทะเบียนโทเคดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บริษัทกำหนดให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาตามขั้นตอนที่กำหนดในข้อ 2 โดยคณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นคณะกรรมการที่แยกจากคณะกรรมการพิจารณาออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล ของบริษัทตามที่ได้อธิบายในข้อ 5.1 หากฝ่ายพัฒนาธุรกิจหรือคณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่าโครงการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างบริษัทกับผู้ออกและเสนอขายหรือโทเคนดิจิทัลดังกล่าวบริษัท คำขอขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัลดังกล่าวจะได้รับการปฏิเสธ

7.3 การแบ่งแยกหน่วยงาน (Chinese Wall)

     บริษัทกำหนดให้มีการแบ่งแยกฝ่ายที่ปรึกษาการเงินและฝ่ายพัฒนาธุรกิจออกจากฝ่ายอื่นของบริษัททั้งทางกายภาพและทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะมีการแบ่งแยกเครือข่ายสารสนเทศ พร้อมแบ่งแยกพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลต่างหากจากฝ่ายงานอื่น โดยฝ่ายที่ปรึกษาการเงินและฝ่ายพัฒนาธุรกิจจะต้องดำเนินการตามนโยบายรักษาความลับของข้อมูลอย่างเคร่งครัดและสามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือการขึ้นทะเบียนโทเคนดิจิทัลได้เฉพาะเท่าที่จำเป็น (Need-to-know basis) ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีการปฏิบัติตามมาตรการแบ่งแยกหน่วยงานและการรักษาความลับของข้อมูลของบริษัท การฝ่าฝืนมาตรการใดๆ จะได้รับการตรวจสอบและลงโทษตามแนวทางการควบคุมภายในและการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากการปฏิบัติงานโดยมิชอบ

7.4 นโยบายไม่รับผลตอบแทน

กำหนดห้ามบุคลากรของบริษัททุกคนรับหรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนแก่บุคคลใดๆ กับผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ให้มีการใช้หน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน

7.5 นโยบายด้านค่าตอบแทน

กำหนดห้ามบริษัทรับค่าตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมจากการให้บริการแก่ผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ขึ้นทะเบียนในศูนย์ซื้อขายของบริษัท

7.6 มาตรการสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบุคลากร

กำหนดห้ามบุคลากรของบริษัท รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร ได้แก่ บุพการี ผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คู่สมรส หรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาของบุคลากร กระทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในระบบการซื้อขายของบริษัท หรือครอบครองโทเคนดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนในระบบศูนย์ซื้อขายของบริษัท โดยให้ฝ่ายกำกับดูแลการซื้อขายติดตามตรวจสอบการใช้ซื้อขายทุกวันเพื่อให้มั่นใจได้ว่าบุคลกรปฏิบัติตามมาตรการของบริษัท

8. การทบทวนนโยบายและหลักเกณฑ์

บริษัทมอบหมายให้คณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นผู้พิจารณาทบทวนนโยบาย มาตรการ กระบวนการ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่เกี่ยวข้องในการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยพิจารณาทบทวนและนำเสนอแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลแก่คณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติและประกาศใช้ต่อไป

9. การอบรมบุคลากร

   กำหนดให้มีการอบรมแก่บุคลากรของบริษัทที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตระหนักและเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงความสำคัญ บทบาทหน้าที่ของบุคลากร และบทลงโทษของการฝ่าฝืน โดยการอบรมให้ดำเนินการเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรืออบรมก่อนเริ่มการปฏิบัติงานหากเป็นบุคลากรที่เข้ามาประจำใหม่